ตกขาว (Leukorrhea) สาเหตุคนเป็นตกขาวและการรักษา

ตกขาว ระดูขาว หรือ มุตกิด (Leukorrhea, Leucorrhea หรือ Vaginal discharge) คือ สิ่งคัดหลั่งจากอวัยวะในอุ้งเชิงกรานของสตรีไม่ว่าจะเป็นจากช่องคลอด ปากมดลูก หรือแม้กระทั่งจากตัวมดลูกเองก็ตาม โดยถือเป็นภาวะปกติของผู้หญิงทุกคน ซึ่งในช่วงเด็กอาจมีเพียงเล็กน้อย แต่เมื่อถึงวัยเจริญพันธุ์ซึ่งเป็นช่วงที่เริ่มมีประจำเดือน ตกขาวจะมีมากขึ้นและมีปริมาณที่พอเหมาะไปจนถึงวัยสูงอายุ ซึ่งจะเป็นช่วงที่ตกขาวมีปริมาณลดลงจนแทบไม่มีอีกครั้ง

สาเหตุของการเป็น ตกขาว (Leukorrhea)

ตกขาวปกติ เป็นสิ่งคัดหลั่งที่สร้างมาจากอวัยวะในอุ้งเชิงกรานของสตรีไม่ว่าจะเป็นจากช่องคลอด ผนังช่องคลอด ปากมดลูก หรือแม้กระทั่งจากตัวมดลูกเองก็ตาม โดยตกขาวจากแหล่งต่าง ๆ นี้จะมารวมกันในช่องคลอดเพื่อทำหน้าที่หลายอย่าง เช่น ช่วยคงความอ่อนนุ่มชุ่มชื้นให้กับช่องคลอด ช่วยหล่อลื่นช่องคลอด ช่วยปรับสภาพความเป็นกรดด่างในช่องคลอดให้สมดุล ช่วยขับสิ่งแปลกปลอม และฆ่าเชื้อโรคที่เข้าไปในช่องคลอด ตกขาวผิดปกติ ส่วนใหญ่มักมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อของอวัยวะในระบบสืบพันธุ์เพศหญิง (ทั้งการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์และการติดเชื้อที่ไม่เกี่ยวข้องกับเพศสัมพันธ์) และมีส่วนน้อยที่ตกขาวผิดปกติไม่ได้มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ ดังนี้

  1. เชื้อแบคทีเรีย (Bacterial vaginosis หรือ ภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย) เป็นการติดเชื้อที่พบได้เป็นส่วนใหญ่ประมาณ 50% การติดเชื้อชนิดนี้มักพบในในสตรีที่ชอบสวนล้างช่องคลอด ผู้ที่คุมกำเนิดโดยการใส่ห่วงอนามัย ผู้ที่รับประทานยาปฏิชีวนะต่อเนื่องเป็นเวลานาน มีการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ หรืออาจเกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา หรืออาหารบางอย่าง (เช่น อาหารหมักดอง อาหารคาวจัด) ผู้หญิงบางคนที่ติดเชื้อชนิดนี้อาจไม่มีอาการใด ๆ แสดงออกมาก็ได้ อย่างไรก็ตาม ภาวะนี้อาจทำให้เกิดอาการตกขาวผิดปกติ (ตกขาวมีปริมาณมากขึ้น อาจเหลวใสหรือเป็นสีขาวเนียนปนเทาอ่อน มีกลิ่นอับคล้ายกลิ่นคาวปลา ส่วนระดับความรุนแรงของกลิ่นแต่ละคนก็แตกต่างกันไป บางคนอาจไม่มีกลิ่น บางคนอาจมีกลิ่นแรงจนคนใกล้ตัวได้กลิ่น) และอาจมีอาการระคายเคืองหรือคันบริเวณช่องคลอด แสบร้อนเวลาปัสสาวะ ซึ่งอาการจะรุนแรงขึ้นโดยเฉพาะหลังร่วมเพศ
  2. เชื้อทริโคโมแนส (Trichomoniasis หรือ โรคพยาธิในช่องคลอด) เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากเชื้อโปรโตซัวที่มีชื่อว่า “ทริโคโมแนส วาจินาลิส” (Trichomonas vaginalis) เป็นการติดเชื้อที่พบได้ประมาณ 25% แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการใด ๆ มีเพียง 30% ของผู้ป่วยเท่านั้นที่จะแสดงอาการของโรค โดยจะทำให้มีตกขาวผิดปกติ เช่น ตกขาวเป็นสีเหลืองหรือสีเขียว มีปริมาณมากขึ้น มีกลิ่นเหม็นออกเปรี้ยวเล็กน้อย ตกขาวมีลักษณะเป็นฟอง (ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของการติดเชื้อชนิดนี้) มีอาการบวม แดง คัน หรือรู้สึกแสบบริเวณอวัยวะเพศ, ปวดปัสสาวะบ่อย, เจ็บปวดขณะปัสสาวะหรือมีเพศสัมพันธ์ อาจมีเลือดไหลออกจากช่องคลอดแบบกะปริดกะปรอยหรือไหลออกมามาก
  3. เชื้อรา (Vaginal candidiasis หรือ โรคเชื้อราในช่องคลอด) เป็นการติดเชื้อที่พบได้ประมาณ 25% โดยเฉพาะจากเชื้อรา “แคนดิดา อัลบิแคนส์” (Candida albicans) ที่พบได้มากที่สุดซึ่งจะทำให้มีตกขาวที่ผิดปกติไปจากเดิม คือ ตกขาวเป็นสีขาวข้นคล้ายคราบนมหรือเป็นสีเหลืองขาว มีขนาดเล็กเป็นก้อนคล้ายนมบูด มีกลิ่นเหม็นอับ แต่ไม่มีกลิ่นคาว ร่วมกับมีอาการคันอย่างมากและระคายเคืองปากช่องคลอดหรือภายในช่องคลอด, ปากช่องคลอดมีอาการบวมแดง, มีอาการแสบร้อนเมื่อปัสสาวะหรือมีเพศสัมพันธ์, อาจเกิดผื่นแดงทั้งภายในและภายนอกช่องคลอด โดยอาจกระจายไปทั่วบริเวณหัวหน่าว อวัยวะเพศหรือต้นขา การติดเชื้อชนิดนี้ส่วนใหญ่แล้วจะมีสาเหตุมาจากความอับชื้น, การใช้ยาปฏิชีวนะ, การใช้ยาสเตียรอยด์, การใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด, ในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ, ผู้ป่วยโรคเบาหวาน, ผู้ติดเชื้อเอดส์หรือโรคเชื้อราในช่องคลอด, หญิงตั้งครรภ์, ความเครียด เป็นต้น การสวมใส่เสื้อผ้าที่อบมากเกินไป การมีสภาพร่างกายที่อ้วนมาก รวมทั้งสภาพอากาศในบ้านเราที่ร้อนชื้นเป็นพิเศษ จะเหมาะแก่การเจริญเติบโตของเชื้อราเป็นอย่างมาก ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ผู้หญิงไทยเรามีการติดเชื้อราในช่องคลอดได้ง่ายมาก บางทีอยู่เฉย ๆ ยังไม่ได้ทำอะไรก็ยังเป็นเชื้อราในช่องคลอดได้ ซึ่งผิดกับผู้หญิงในเมืองหนาวที่มีจะมีการติดเชื้อราน้อยกว่า เพราะส่วนใหญ่จะเกิดเฉพาะในรายที่เป็นโรคเบาหวานหรือเป็นโรคต้องรับประทานยากดภูมิต้านทานบางอย่าง
  4. เชื้อไวรัส เกิดจากการติดโรคทางเพศสัมพันธ์ ส่วนใหญ่เป็นเชื้อ “เฮอร์ปีส์ซิมเพล็กซ์” (Herpes simplex) ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคเริม ทำให้มีตุ่มใส ๆ ขนาดเล็ก ต่อมาจะแตกออกกลายเป็นแผลและแสบคัน มีตกขาวสีเหลือง มีกลิ่นผิดปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในครั้งแรกที่ปรากฏอาการ
  5. เชื้อบัคเตรีชนิดอื่น ๆ เช่น เชื้อสแตฟีโลค็อกคัส (Staphylococcus), สเตรปโตค็อกคัส (Streptococcus) เป็นต้น ทั้งนี้อาจพบเชื้อต้นเหตุได้มากกว่า 1 ชนิดก็ได้

การรักษาตกขาว

สำหรับตกขาวปกติ (ตกขาวธรรมดา) ไม่จำเป็นต้องทำการรักษาแต่อย่างใด เพียงแต่ปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามสุขอนามัยก็เพียงพอแล้ว แต่หากเป็นตกขาวที่ผิดปกติ หรือตกขาวที่มีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย หรือสงสัยว่าอาจมีสาเหตุที่ผิดปกติเกิดขึ้น ควรปรึกษาแพทย์หรือสูตินรีแพทย์เพื่อทำการตรวจภายในช่องคลอดและให้การรักษาไปตามสาเหตุที่ตรวจพบ

ซึ่งการรักษาตกขาวผิดปกตินั้นจะต้องรักษาที่สาเหตุและโรคที่ป่วยร่วมด้วย (ถ้ามี) ทั้งการรักษาด้วยยาเฉพาะทางหรือการผ่าตัด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการป่วยและความรุนแรงของโรค แต่โดยทั่วไปตกขาวผิดปกติมักจะเกิดจากการติดเชื้อประเภทแบคทีเรียหรือเชื้อราในช่องคลอด ซึ่งสามารถรักษาให้หายได้ด้วยการรับประทานยา ใช้ครีม/เจลทาในช่องคลอด หรือใช้ยาเหน็บช่องคลอด ดังนี้

  1. ตกขาวจากเชื้อแบคทีเรีย (Bacterial vaginosis) เป็นอาการที่สามารถหายไปได้เอง หากผู้ป่วยไม่มีอาการใด ๆ ที่เป็นปัญหาและไม่ได้ตั้งครรภ์ก็อาจไม่จำเป็นต้องรับการรักษา ส่วนในรายที่มีอาการ ส่วนใหญ่แพทย์จะให้การรักษาด้วยการรับประทานยาปฏิชีวนะเมโทรนิดาโซล (Metronidazole)
  2. ตกขาวจากเชื้อทริโคโมแนส (Trichomonas vaginalis) เป็นโรคที่ต้องได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะโดยเร็วที่สุด เพื่อลดโอกาสการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น ซึ่งการรักษาส่วนใหญ่จะเป็นการรักษาด้วยการรับประทานยาปฏิชีวนะเมโทรนิดาโซล (Metronidazole) เช่นเดียวกับการรักษาอาการตกขาวจากเชื้อแบคทีเรีย
  3. ตกขาวจากเชื้อรา (Candida albicans) การรักษาการติดเชื้อราในช่องคลอด โดยส่วนใหญ่แล้วแพทย์จะพิจารณาให้ใช้ยาเหน็บช่องคลอดโคลไตรมาโซล (Clotrimazole vaginal tablets) เพื่อยับยั้งทำลายเชื้อราและกระบวนการสร้างเซลล์ของเชื้อรา ซึ่งยานี้จะมีทั้งขนาด 100 และ 500 มิลลิกรัม (หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไปโดยไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์ แต่หากใช้แล้วไม่หายหรืออาการยังไม่ดีขึ้นควรพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษา)

การมีตกขาวในผู้หญิงทุกคนจึงเป็นภาวะปกติ ไม่ใช่อาการแสดงถึงการเกิดโรคแต่อย่างใด แต่ปัจจัยที่มีผลต่อการคัดหลั่งของตกขาวจะมากหรือน้อยนั้นจะขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอกและภายในร่างกายของผู้หญิงแต่ละคน เช่น ความร้อน ความอับชื้น อารมณ์ การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกายในแต่ละช่วง เป็นต้น

You Missed